ขับไม้ ๑

วงดนตรีไทยประเภทหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ขับลำนำ ๑ คน สีซอสามสาย ๑ คน และไกวบัณเฑาะว์ ๑ คน วงขับไม้เป็นวงดนตรีโบราณของไทยที่ถือว่าเป็นของสูงศักดิ์อย่างหนึ่ง จะมีได้ก็แต่วงของหลวงเท่านั้น และงานหรือพิธีของหลวงที่จะมีการบรรเลงด้วยวงขับไม้ก็ต้องเป็นงานสมโภชชั้นสูง เช่น สมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชเจ้าฟ้า สมโภชช้างเผือก หากเป็นงานสมโภชอย่างสามัญก็มิได้มีขับไม้ การขับไม้ในพระราชพิธีสมโภช เช่น สมโภชพระมหาเศวตฉัตรในพระราชพิธีฉัตรมงคลก็ดี หรือสมโภชช้างเผือกในงานพระราชพิธีขึ้นระวางก็ดี จะต้องเริ่มด้วยพราหมณ์อ่านฉันท์ดุษฎีสังเวย ๔ ลาเป็นกำหนดก่อน ต่อจากนั้นจึงจะเริ่มขับไม้ ในขณะขับไม้พราหมณ์อาจจะเบิกแว่นเวียนเทียนไปพร้อม ๆ กัน หรือขับไม้เป็นการกล่อมโดยเฉพาะ แล้วพราหมณ์กระทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียนต่อภายหลัง ย่อมแล้วแต่ชนิดของงาน

 วิธีบรรเลงของวงขับไม้ ผู้ขับลำนำก็ขับไปตามลีลาของคำประพันธ์ ซึ่งเป็นกาพย์และโคลงอย่างหนึ่ง ทำนองที่ขับเป็นทำนองช้า ๆ มีลักษณะคล้ายกับทำนองอ่านโคลง เกริ่นโคลงเห่เรือ และพากย์โขนผสมกัน ผู้สีซอสามสายก็สีคลอไปตามเสียงของผู้ขับ เมื่อหมดตอนหนึ่ง ๆ ของบทขับ ซึ่งเรียกว่า “แผด” (อ่านว่า ผะ-แด) มักจะสีเป็นเพลงใดเพลงหนึ่งแทรก เช่น เพลงสาธุการ เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ เมื่อสิ้นเพลงซอแล้วผู้ขับจึงขับแผดต่อไป ส่วนผู้ไกวบัณเฑาะว์นั้นต้องไกวไปตามจังหวะลำนำของผู้ขับและจังหวะเพลงของซอสามสายโดยตลอด ในตอนแทรกระหว่างแผดหนึ่ง ๆ นั้นมักจะไกว ๒ มือ โดยถือบัณเฑาะว์มือละลูก และไกวให้พร้อม ๆ กันทั้ง ๒ มือ

 บางสมัย การขับไม้อาจใช้ขับกล่อมเวลาพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง เสด็จเข้าสู่ที่บรรทม ดังในบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนอุณากรรณบรรทมอยู่ในตำหนักสวนแห่งเมืองกาหลัง บทของพวกกิดาหยันที่ร้องในตอนนี้ มีว่า

พระเอยพระยอดฟ้า พระสนิทนิทราอยู่บนที่
ทรงสดับขับไม้มโหรี ซอสีส่งเสียงจำเรียงราย
เชิญพระบรรทมสถาพร จะกล่าวกลอนถนอมกล่อมถวาย
ให้ไพเราะเสนาะใจสบาย พระฤๅสายจงไสยาเอย

 นอกจากนั้นยังเคยปรากฏว่าได้ใช้ทำนองขับไม้ขับถวายเวลาทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัวผม) ของพระมหากษัตริย์และกรมพระราชวังบวร แต่โดยมากคำที่ขับเป็นกาพย์ชนิดอื่น ไม่ใช่กาพย์ขับไม้ ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเป็นอ่านฉันท์และขับเสภาถวายวงขับไม้เป็นต้นแบบที่วิวัฒนาการมาเป็นวงมโหรีในปัจจุบัน